ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยซื้อขายอัตโนมัติ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า “บอท” (Robot) เป็นชุดคำสั่งหนึ่งที่จะทำงานตามที่ได้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า โดยจะมีความเที่ยงตรงสูงมาก (กรณีไม่มี Bug) โดยคำว่าเที่ยงตรงสูงมากในที่นี้มันไม่ได้หมายถึงสามารถทำกำไรได้สูงมากนะครับ แต่หมายถึงมีระบบระเบียบในการทำงาน สั่งซ้ายหันซ้าย สั่งขวาหันขวา
แล้วมันดีหรือไม่ดีหล่ะ? ถ้าจะนำมาใช้
คำถามนี้เป็นคำถามโลกแตกครับ ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี งั้นจะขอวิเคราะห์แบ่งออกเป็นข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี
- มันเป็นระบบอัตโนมัติที่ทำแทนเราได้ค่อนข้างเยอะ ทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น
- มันเป็นระบบที่มีความเที่ยงตรง เป็นระเบียบ ไม่หลุดจากแผนที่วางไว้แน่นอน
- มันเป็นระบบที่สามารถใช้เครื่องมือทางสถิติวัดค่าได้ สะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นในอดีต
- มันเป็นระบบที่สามารถแบ่งปันให้คนอื่นใช้ได้ไม่ยากเย็นนัก
ข้อเสีย
- ตลาด Forex หรือตลาดหุ้น ตามสถาพความเป็นจริงจะใช้อารมณ์ของมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนราคามากกว่าใช้ตรรกะ ดังนั้นเงื่อนไขที่ถูกป้อนเข้ามาอาจใช้ไม่ได้กับสภาพอารมณ์ของมนุษย์
- ในเมื่อมันเป็นระบบอัตโนมัติ ดังนั้นมันอาจเป็นผลเสียต่อผู้ใช้งานที่จะไม่ได้พัฒนาตัวเอง
- อันตรายมากหากผู้ที่ไม่มีความรู้จะเลือกใช้งาน เปรียบเสมือนคนขับรถไม่เป็นแต่ไปขับรถออกถนนจริง
- ข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังในอดีตที่ได้ถูกทดสอบกับระบบอัตโนมัติว่ามีความถูกต้องสูงนั้น ก็ไม่ได้มีความถูกต้องมากเพียงพอให้ระบบอัตโนมัตินั้นอยู่รอดในตลาดได้ในปัจจุบันและอนาคต
นี่ก็เป็นการวิเคราะห์พื้นฐานถึงข้อดีและข้อเสียของระบบซื้อขายอัตโนมัตินะครับ เอามา 4 ข้อเท่ากันจะได้ไม่เอนเอียง ข้อมูลมาจากความรู้สึกล้วน ๆ อาจไม่ถูกต้องก็ขออภัยด้วยครับ แต่สำหรับผมเองนั้นได้นำเอาข้อดีและข้อเสียมาคิดหาทางออก และได้ใช้วิธีกึ่งอัตโนมัติเข้าช่วย โดยวิธีการคือ ให้ระบบอัตโนมัติคอยหารูปแบบของกราฟที่เข้าเงื่อนไขอยู่ตลอด 24 ช.ม. Filter เบื้องต้น แล้วเมื่อพบรูปแบบดังกล่าวให้แจ้งผมได้ทราบผ่านช่องทาง (Line, E-mail, Facebook ฯลฯ) จากนั้นผมก็จะมาวิเคราะห์อีกทีว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำการซื้อขาย ณ เวลานั้น จากวิธีดังกล่าวข้างต้นทำให้ผมมีเวลาทำอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา และยังรู้สึกว่ามีความเที่ยงตรงของข้อมูลค่อนข้างมากจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยตรวจสอบรูปแบบกราฟได้ดีกว่าตาเรามองเห็นซะอีกนะครับ
แล้วถ้าหากเราใช้ระบบอัตโนมัติประยุกต์ให้มากขึ้นกว่าการเขียนแค่ชุดคำสั่ง ไปทำงานร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) หรือศาสตร์ของ Artificial Intelligence (AI) จะช่วยเราได้มากขนาดไหน ลองติดตามดูในบทความต่อ ๆ ไปนะครับ