ผลวิกฤต COVID-19 กับธุรกิจเทรนด์ใหม่ การขนส่งภายใต้ Next Normal

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไปทั่วโลก รัฐบาลของแต่ละประเทศได้มีการเพิ่มระดับความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน ตั้งแต่การเว้นระยะห่างทางสังคมไปจนถึงการปิดประเทศ มาตรการเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการชะงักของอุปสงค์การบริโภค

และอุปทานในภาคการผลิตและการบริการ โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าต่าง ๆ จนอาจถึงขั้นวิกฤตในบางประเทศ มองโลก: ผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งทางอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันทั้งโลก บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey (3 เมษายน 2563) ชี้ว่าจากการศึกษามูลค่าของบริษัททั่วโลก 3,000 บริษัท พบว่าธุรกิจเกือบทุกสาขาได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้มากน้อยแตกต่างกันไป ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ธุรกิจผลิตอากาศยาน ธุรกิจขนส่งทางอากาศและท่องเที่ยว ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ ส่วนธุรกิจที่ได้ผลกระทบน้อยคือ ธุรกิจบริการผู้บริโภค ธุรกิจยา ธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจค้าปลีก และยังประเมินว่าในวิกฤตครั้งนี้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมากกว่าครั้งวิกฤต 9/11 หรือวิกฤตการเงินโลก 2008 โดยจะหายไปประมาณ 30-70% ของความสามารถในการให้บริการทั้งหมด เทียบกับที่หายไป 19% ในช่วงวิกฤต 9/11 และ 11% ในช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008

นอกจากนี้ World Bank (2020) ประเมินว่า ในระยะสั้นจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะลดลงมากกว่า 40% และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะมีรายได้หายไปถึง 113 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้ ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของสายการบิน Lufthansa ให้ความเห็นว่าอาจจะใช้เวลานานนับปีกว่าความต้องการเดินทางทางอากาศจะกลับมาสู่ระดับปกติก่อนมีวิกฤต COVID-19

มองไทย: ขนส่งทางอากาศของไทยได้รับผลกระทบมาก แต่ธุรกิจขนส่งสินค้ายังเดินต่อ
หันกลับมาดูผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งในไทย การลดการเดินทางทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจขนส่งทางอากาศได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อหลายประเทศมีการควบคุมการเดินทาง โดยเฉพาะการบินพาณิชย์ทั้งในส่วนของรายได้และจำนวนผู้โดยสาร หากอ้างอิงจากข้อมูลจากทุกด่านของกรมตรวจคนเข้าเมืองจะเห็นว่าจำนวนคนเดินทางเข้าออกประเทศไทยเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ขาเข้า 1.16 แสนคน) และลดอย่างมากในเดือนมีนาคม 2563 (ขาเข้า 0.67 แสนคน) (รูปที่ 1) เป็นผลจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง การลดจำนวนเที่ยวบินของสายการบินระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และการหยุดการบินภายในประเทศในที่สุด

จากผลการหารือระหว่างกรมการขนส่งทางบกร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 สรุปได้ว่าการขนส่งสินค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อประเทศจีนปิดท่าเรือทำให้ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าสินค้าจากจีนได้ ตลอดจนมีการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศออกไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งรายได้จากการขายสินค้าก็ลดลงจนอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและอาจส่งผลให้ขาดทุนในระยะยาวได้ [1] อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมินว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าภายในประเทศไม่น่ามีปัญหาและอยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่มีการควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด แต่รัฐบาลก็ยกเว้นการขนส่งสินค้าให้ดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าในช่วงเวลากลางคืนไปยังศูนย์กระจายสินค้าและห้างร้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ไปจับจ่ายใช้สอย

มองเทรนด์ใหม่: ธุรกิจบริการดิจิทัลเติบโตก้าวกระโดดภายใต้ Next Normal
คนจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำงานจากบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโรค แต่การอุปโภคบริโภคยังเป็นสิ่งจำเป็น หลายคนจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย หันมาใช้ธุรกิจบริการดิจิทัลมากขึ้น การซื้อผ่านแอปพลิเคชันทำได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ประกอบการก็เพิ่มการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้นด้วย ถือเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจบริการดิจิทัล อย่างธุรกิจ e-Commerce ธุรกิจรับส่งพัสดุด่วน (Parcel Delivery) และธุรกิจขนส่งอาหาร (Online Food Delivery) โดยเฉพาะ Online Food Delivery โตขึ้นมากกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ สะท้อนจากข้อมูล “Google Trend” ของคำค้นหา e-Commerce และ Logistic [2] รวมถึงคำค้นหาด้าน Parcel Delivery และ Online Food Delivery (รูปที่ 2)

การศึกษาในอดีต พบว่ามูลค่าธุรกิจ e-Commerce เติบโต 8-10% ต่อปี ขณะที่ธุรกิจรับส่งพัสดุด่วนที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องขยายตัวประมาณ 11% ต่อปี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งอาหารเติบโตสูงเฉลี่ย 10% ต่อปี เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็กที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

หลังจากวิกฤต COVID-19 เราอาจเข้าสู่ “Next Normal” ที่สภาพสังคมหรือพฤติกรรมบริโภคมุ่งไปสู่ยุค On Demand ผู้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชันได้ในพริบตา ดังนั้นธุรกิจขนส่งควรพร้อมปรับตัวรับโอกาสใหม่นี้ที่จะสามารถเติบโตตราบเท่าที่คนยังมีสมาร์ทโฟนติดตัวไปทุกที่ทุกเวลา

โดย ​นางสาวพรสวรรค์ รักเป็นธรรม
นางยุววรรณ รัฐกุล
ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ต้นฉบับ: BOT website

เครดิต Bank of Thailand Scholarship Students

Message us